วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ป่าเลนหรือป่าชายเลน เป็นสังคมพืชป่าดงดิบ ชนิดหนึ่งซึ่งมีชั้นดินที่พื้นป่าเป็นโคลนเลน หรือดินเหนียว ใกล้ชายฝั่งทะเล ซึ่งมีน้ำจืดน้ำเค็มไหลเข้ามา ปะปนกันทุกวัน พืชที่ประกอบกันขึ้นเป็นป่าชายเลนเป็น “พืชสะเทินน้ำสะเทินบก” ต้องสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพดินหล่มมีน้ำทะเลท่วมถึง วันละหลาย ๆ ชั่วโมงจึงมีวิวัฒนาการพิเศษของระบบราก ลำต้น เปลือก ใบ (ซึ่งพืชในป่าบกไม่มี) เพื่อให้สามารถรอดพ้นความเค็มของน้ำทะเลและทนทานคลื่นน้ำทะเลและกระแสลมรุนแรงได้ดี โดยทั่วไปโครงสร้างของป่าชายเลนจำแนกออกได้เป็น ๔ องค์ประกอบด้วยกัน กล่าวคือ

องค์ประกอบที่ ๑. สังคมพืชสันดอนงอกใหม่ สันดอนงอกริมทะเลหรือปากแม่น้ำซึ่งเป็นสันดอนทรายงอกใหม่ มักพบแสม ลำพู ลำแพน หยั่งราก ลึกลงในพื้นทราย มีรากหายใจแบบเข็มหมุดหรือแผ่แบนคล้ายแผ่นกระดาน ส่วนสันดอนเลนงอกใหม่มักพบโกงกางใบใหญ่ แผ่รากค้ำยัน กว้างขวาง ออกไปโดยรอบโคนต้นยึดเหนี่ยวโคลนเลนไว้รอสังคมพืชป่าเลนต่ำที่จะขึ้นงอกงามทดแทนในโอกาสต่อไป

องค์ประกอบที่ ๒. สังคมพืชป่าเลนต่ำ ถัดจากสันดอนงอกใหม่เข้าไปในแผ่นดินพื้นที่มักเป็นแอ่งที่ลุ่มดักตะกอนเลนได้เป็นอย่างดี ภายหลังจากสังคมพืชสันดอนงอกใหม่เจริญเพิ่มพูนขึ้นมากแล้ว สังคมพืชป่าเลนต่ำจึงแทรกเข้ามาเจริญเติบโตต่อไปได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะโกงกางใบเล็ก และพืชชนิดต่าง ๆ ที่ชอบขึ้นบนพื้นเลนเหลว เละมีรากค้ำยันแผ่ออกกว้างขวางสลับซับซ้อน ทำให้สัตว์น้ำนานาชนิดเข้ามาอาศัยอยู่โดยเฉพาะสัตว์จำพวกกุ้ง กั้ง รวมทั้ง ปูทะเล ด้วย

องค์ประกอบที่ ๓. สังคมพืชป่าเลนสูง เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ป่าเลนต่ำสะสมตะกอนนำพา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรายทำให้พื้นดินเลนแน่นแข็งและตื้นเขิน ขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนดินเลนชั้นล่างยังชุ่มน้ำจึงอ่อนเหลว “ แม่หอบ ” หลายพันธุ์เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เช่นนี้สร้างจอมแม่หอบทำให้พื้นที่ป่าชายเลนตื้นเขิน ขึ้นเรื่อย ๆ มีพันธุ์ไม้โปรง ฝาด ตะบูน ตะบัน และตาตุ่ม ขึ้นในพื้นที่ดินเลนแน่นแข็งน้ำทะเลท่วมขังได้น้อยเช่นนี้

องค์ประกอบที่ ๔. สังคมพืชป่าตะกาด เมื่อพื้นที่ตื้นเขินจนกลายเป็นที่ดอนน้ำทะเลท่วมได้น้อยครั้งมาก ปรากฏคราบเกลือกระจายทั่วไปทำให้พันธุ์ไม้ไม่ค่อยเจริญงอกงามมากนักเนื่องจากพื้นที่ดินเค็มจัดเหลือพันธุ์ไม้เล็ก ๆ และพืชล้มลุกที่ขึ้นอยู่ได้ดี เช่น ชะคราม ผักเบี้ยทะเล ดองดึง และเสมา เป็นต้น

ป่าเลนต่ำ

เมื่อกองทัพหน้าของป่าชายเลนอันได้แก่ แสม และลำพูหรือลำแพน ยึดเหนี่ยวดินเลนไว้ได้เป็นชั้นหนาเหนือพื้นทรายงอกใหม่ หรือเมื่อ โกงกางใบใหญ่ ช่วยยึดเหนี่ยวดินเลนให้เป็นชั้นหนาหลวม ๆ เหนือพื้นเลนงอกใหม่ริมฝั่งทะเลแล้ว ทำให้เกิดลานโคลน อันเป็นแหล่งรวมอินทรียวัตถุที่ถูกพัดพามากับ น้ำทะเลหรือน้ำจืดจากแหล่งน้ำบนบก ลานโคลนดังกล่าวนี้เป็นศูนย์รวมธาตุอาหารที่สำคัญที่สุดของสัตว์น้ำและพืชในป่าชายเลน อีกทั้งเป็นชั้นดินอินทรีย์ ที่เหลวเละเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสังคมพืชป่าเลนต่ำอาทิ โกงกางใบเล็ก ซึ่งมีรากค้ำยันยื่นออกไปเกือบตั้งฉากกับลำต้นก่อนหักมุมหยั่งลงปักพื้นเลน รากค้ำยันซึ่งโหย่งแผ่กว้างเช่นนี้มักพบหอยชนิดต่าง ๆ มาเกาะอาศัยโดยเฉพาะหอยนางรมเกาะตามรากมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้นมักมีรูปูแสม รูปูดำและกุ้งดีดขันเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าพื้นที่ป่าเลนต่ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินที่สำคัญที่สุดของบรรดาสัตว์น้ำในป่าชายเลน

ป่าเลนสูง

เมื่อกองทัพหลวงของป่าชายเลนอันมี โกงกางใบเล็ก เข้ามายึดครองพื้นที่ป่าเลนต่ำ และแพร่จำนวนโกงกางใบเล็กจนเต็มพื้นป่าซึ่งมีชั้นเลนหนาแล้ว ปัจจัยธรรมชาติหลายประการ เข้ามาเป็นตัวการแปรเปลี่ยนพื้นเลนหนาให้กลายเป็นป่าชายเลนเชิงทรงกล่าวคือ มีชั้นดินเลนที่หนาและสูงพ้นน้ำทะเลท่วมถึงทำให้เลนแห้งแข็ง และยกตัวสูงขึ้นน้ำทะเลท่วมถึงได้ยากขึ้น ชั้นดินเลนที่สูงและอัดตัวกันแน่นขึ้นกว่าเดิมเช่นนี้ไม่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของโกงกางใบเล็ก ทำให้โกงกางใบเล็กลดจำนวนลงและโปรง เจริญเข้ามาแทนที่เนื่องจากมีฝักที่เล็กเบาและสั้นกว่าฝักโกงกางจึงเหมาะที่จะขยายพันธุ์ในบริเวณที่มีดินเลนสูง และอัดแน่นเช่นนี้ เราเรียกพื้นที่ตอนนี้ว่า ป่าเลนสูง พันธุ์ไม้ในป่าเลนสูงตามปกติได้แก่ โปรงขาว ฝาดดอกขาว และตะบูนขาว เป็นต้น ป่าเลนสูงเป็นแหล่งรวมเศษไม้ใบไม้จากที่สูงในแผ่นดินและจากทะเลไหลลอยเข้ามานับเป็น “ดงขยะซากอินทรีย์” ของแผ่นดินและทะเลรวมกัน พื้นที่ซึ่งมีโปรงขาว จึงรับหน้าที่ปรุงเศษไม้ใบไม้ และซากอินทรีย์เหล่านี้ให้กลายเป็นธาตุอาหารที่เหมาะแก่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป โดยมีสิ่งมีชีวิต จำพวก สัตว์น้ำหลายชนิดที่ไม่ชอบหากินในห้วงน้ำทะเลลึกเช่น ปูนานาชนิด และสัตว์บกที่หนีน้ำท่วมไปอยู่ตามต้นไม้ได้ดีเช่น มดแดง และ ปลวก ก็เข้ามาอาศัยและช่วยย่อยสลายกองขยะอินทรีย์เหล่านี้อย่างแข็งขันร่วมกับจุลชีวิตจำพวกเห็ดราต่าง ๆ

การร่วงหล่นของเศษไม้ใบไม้
การร่วงหล่นของเศษไม้ใบไม้ในป่าชายเลนมีถึงปีละประมาณ 1,420 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเฉพาะฤดูแล้งเป็นช่วงที่มีการร่วงหล่นของใบไม้มากที่สุดในรอบปี เศษไม้หรือใบไม้ที่ร่วงหล่นลงสู่พื้นป่าชายเลนแล้วนั้นจะผุสลายไปได้รวดเร็วกว่ในสภาพธรรมชาติที่เป็นน้ำจืด โดยมีปัจจัยสำคัญได้แก่ (1)ความชื้นและปริมาณออกซิเจนในอากาศ (2) กายสมบัติและเคมีสมบัติของน้ำทะเล (3) แบคทีเรียและราชนิดต่าง ๆ (4) สัตว์หน้าดินเล็ก ๆ (5) ปูชนิดต่าง ๆ และ (6) การขึ้นลงของน้ำทะเลตลอดจนแรงกระแทกของกระแสน้ำ ทำให้เศษไม้ใบไม้ที่ผุเปื่อยอยู่แล้วแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากการวิจัยของนักวิชาการพบว่า การผุสลายของเศษไม้ใบไม้ที่พื้นป่าชายเลนแต่ละปีเป็นไปรวดเร็วมากถึงประมาณร้อยละ ๕๐ ของน้ำหนักเศษไม้ใบไม้แห้งนั้น ซึ่งหมายความว่า ช่วงเวลาประมาณ 2 ปีเศษไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงสู่พื้นป่าชายเลนจะผุสลายกลายไปเป็นธาตุอาหารของพืชได้เกือบหมด นอกจากนั้นยังพบว่าธาตุอาหารที่ได้จากการผุสลายของเศษไม้ใบไม้ดังกล่าวมีถึงปีละประมาณ 49.0 กิโลกรัมต่อไร่ อยู่ในรูปของ ไนโตรเจน (8.9 ก.ก.) ฟอสฟอรัส(0.7 ก.ก.) โปรแตสเซียม(8.4 ก.ก.) แคลเซียม(18.2 ก.ก.) แมกนีเซียม(3.9 ก.ก.) และโซเดียม 8.9 ก.ก.) ที่กล่าวมานี้ ยังไม่รวมมวลชีวภาพ ของเนื้อไม้ในป่าชายเลนซึ่งประมาณกันอย่างคร่าว ๆ ว่ามีถึงปีละประมาณ 113,000 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าปล่อยให้ผุสลายโดยไม่ตัดเนื้อไม้ไปใช้ จะเป็นธาตุอาหารแก่พืชและสัตว์น้ำในป่าชายเลนได้มากมายขนาดไหน

ดินเลนและการงอกของลูกไม้ในปาชายเลน

ฝักแสม มีรูปร่างคล้ายเขี้ยว ดูเหมือนผลพริก น้ำหนักเบา เมื่อน้ำขึ้นถูกกระแสน้ำพัดพาลอยไปเกาะตามพื้นป่าเลนสูง ทำให้ผลมีน้ำหนักมากพอที่จะถูกน้ำลงพัดพาไปเกาะเกี่ยวติดแน่นกับตะแกรงรากแสมในพื้นทรายริมทะเลลึก เจริญเติบโตแผ่ขยายเขตป่าชายเลนล้ำเข้าไปในทะเลลึกได้ต่อไป
ฝักโกงกาง ฝักยาว มีปลายแหลมคล้ายฝักมะรุม จึงเรียกว่า ฝัก แทนที่จะเรียกว่า เมล็ด ฝักโกงกางเป็นฝักทวิชาติ เกิดขึ้นมาแล้วครั้งแรก แม้เมื่อติดเป็นฝักอยู่กับต้นแม่ ต่อมาหล่นลงปักบนพื้นเลนเหลวแล้วงอกขึ้นถือเป็นการเกิดครั้งที่สอง
ฝักโปรง มีปลายแหลมคล้ายฝักโกงกางแต่ฝักสั้นกว่า เหมาะแก่การหล่นปักลงบนพื้นเลนปนทรายซึ่งเป็นเลนนิ่มของพื้นป่าเลนสูงที่น้ำทะเลท่วมอย่างตื้น ๆ พ้นกระแสน้ำทะเลที่พัดพารุนแรง
ผลตะบูน เป็นผลกลมคล้ายผลมะตูม น้ำหนักมาก เมื่อหล่นจากต้นแล้วกระแทกพื้นเลนแข็ง เมล็ดจะแตกออกแล้วงอกขึ้นตามโคนต้นโดยไม่ถูกกระแสน้ำ ทะเลพัดพาเคลื่อนย้ายไป

ทำไมไม้ป่าชายเลนจึงไม่ผุง่าย ๆ เมื่อแช่น้ำทะเล

โดยปกติ ไม้ทุกชนิดมักผุพังไปโดยง่ายเมื่อผจญกับความชื้น (แห้งสลับเปียก) และมักผุพังได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อผจญกับความชื้นจากน้ำเค็ม แต่.... เปลือกไม้ป่าชายเลนเกือบทุกชนิดมีน้ำฝาดมากกว่าเปลือกไม้ในป่าบกทั่วไปสารเคมีในน้ำฝาดมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราไม่ให้เข้าทำลายเนื้อไม้ได้ดี มีผู้นิยมนำน้ำฝาดจากเปลือกไม้ป่าชายเลนไปย้อมเครื่องมือจับสัตว์น้ำ อาทิ แห หรือ อวน ที่ต้องการความคงทนถาวรไม่เปื่อยยุ่ยได้ง่ายเมื่อต้องใช้งานในน้ำทะเล

อย่าส่งเสียงดัง กุ้งกำลังดีดขัน ?

กุ้งดีดขัน มีลำตัวใสยาวประมาณ ๓ ถึง ๕ เซนติเมตร นัยน์ตาเล็ก หนวดยาว หัวโต ลำตัวเรียวเล็กลงไปจรดปลายหาง ขาเดินที่เรียกว่า “ ก้ามหนีบ ” ข้างขวามีสีเขียวอมฟ้าขนาดใหญ่กว่าข้างซ้ายดูคล้ายนักมวยสวมนวมข้างเดียว ก้ามหนีบใหญ่นี้เมื่อหนีบกันทำให้เกิดเสียงดัง แป๊ะ แป๊ะ โดยเฉพาะเมื่อนำกุ้งชนิดนี้ใส่ลงในขันตักน้ำแล้วแหย่ที่ก้ามหนีบกุ้งจะใช้ก้ามหนีบขบกันทำให้เกิดเสียง แป๊ะ แป๊ะ ดังกล่าว เด็ก ๆ ลูกหลานชาวประมง นำกุ้งชนิดนี้มาเป็นของเล่นพื้นบ้านเรียกว่า “กุ้งดีดขัน” หรือ “กุ้งดีดนิ้ว”
กุ้งดีดขัน กินสาหร่าย สัตว์น้ำขนาดเล็กและอินทรียวัตถุต่าง ๆ ในป่าชายเลนเป็นการช่วยทำลายซากพืชและใบไม้ชิ้นใหญ่ ๆ ให้เล็กลงถือเป็นการเร่งธาตุอาหารให้หมุนเวียนเร็วขึ้นในป่าชายเลนอีกด้วย
เมื่อท่านเงียบสนิทดีแล้ว ลองฟังเสียง แป๊ะ แป๊ะ... ของกุ้งดีดขันหน่อยเป็นไร ก้องป่าดีเหมือนกันนะ

เหตุใดเปลือกไม้ป่าชายเลนหลายชนิดจึงใช้แก้โรคระบบทางเดินอาหารได้ดี ?

เพราะ... ยาแผนปัจจุบันเกี่ยวกับการรักษาโรคระบบทางเดินอาหารใช้ตัวยาที่มีสารประกอบจำพวก Magnesium Sulphate (MgSo4) เป็นหลักในป่าชายเลน Magnesium Sulphate มาจากน้ำทะเลและไม้ป่าชายเลนสะสม Magnesium Sulphate และสารประกอบ Tannins ไว้ในเปลือกและผลจึงสามารถใช้ส่วนเปลือกและผลของไม้ป่าชายเลนเป็นยารักษาโรคระบบทางเดินอาหารได้ดี

ไม้ป่าชายเลนอาศัยอยู่ในน้ำเค็มได้อย่างไร ?

คนดื่มน้ำทะเล โดยไม่ดื่มน้ำจืดเลย......ตาย เพราะ.....น้ำเค็มมีความเข้มข้นมากกว่าน้ำจืดในเลือด น้ำเค็มจึงดูดน้ำจืดออกจากกระแสเลือดหมด ทำให้ไตไม่สามารถระบายพิษในกระแสเลือดออกได้เพราะขาดน้ำจืด ผลคือ คน ๆ นั้นจะตายเพราะอาการไตวาย พืชส่วนมาก (ยกเว้นพืชในป่าชายเลน) ไม่อาจเจริญงอกงามในพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึงได้เพราะ... (๑) น้ำเค็มมีความเข้มข้นมากกว่าน้ำเลี้ยง น้ำเค็มจึงดูดเอาน้ำจืดออกจากน้ำเลี้ยงไปจากเซลล์น้ำจืด จนหมด ทำให้กระบวนการดำรงชีวิตของพืช ดำเนินต่อไปไม่ได้ ต้นไม้นั้นก็จะแห้งเหี่ยวตายไปในที่สุด
แต่..... ต้นไม้ในป่าชายเลนมี (๑) ต่อมเกลือ สกัดน้ำเกลือไม่ให้เข้าสู่เนื้อเยื่อภายใน (๒) มีสารขี้ผึ้ง เคลือบที่ใบและเปลือกป้องกันน้ำเค็มซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อ ภายใน (๓) พัฒนาการให้ ใบอวบน้ำ เก็บน้ำจืดไว้ในใบเพื่อทำให้น้ำเค็มเจือจาง (๔) เปลี่ยนใบให้กลายเป็นหนามลดการแลกเปลี่ยนน้ำระหว่างธรรมชาติ ภายนอกกับเนื้อเยื่อภายใน และ (๕) มีรูใบ ที่ท้องใบน้อยกว่าปกติเพื่อลดการคลายน้ำจืดออกจากใบ

ประตูป่าชายเลน
แพรก ที่ท่านเห็นอยู่ตรงหน้านี้ทำหน้าที่ส่งน้ำทะเลเข้าและระบายน้ำทะเลออกจากป่าชายเลนได้อย่างรวดเร็ว การที่น้ำทะเลระบายออกหรือไหล เข้าสู่พื้นที่ได้รวดเร็ว เกิดผลดีแก่ป่าชายเลน กล่าวคือ ช่วงเวลาที่น้ำขึ้นอินทรียวัตถุตลอดจนสัตว์น้ำนานาชนิดไหลลอยเข้ามาสู่พื้นที่ได้อย่างทั่วถึง และรวดเร็ว เกิดการแลกเปลี่ยนธาตุอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพอเหมาะแก่เวลาที่พืชและสัตว์น้ำต้องการ ในขณะเดียวกันสัตว์น้ำที่ลอยเข้ามา เช่น ปลาและกุ้ง ก็ได้เข้ามาหากินและหลบกำบังภัยจากสัตว์ที่ตัวใหญ่กว่าในป่าชายเลน เมื่อถึงเวลาน้ำลงน้ำระบายออกได้อย่างรวดเร็ว สัตว์หน้าดิน เช่น หอย และ ปู มีเวลาหากินบนพื้นเลนที่น้ำไม่ท่วมได้นานขึ้น ทำให้เกิดการย่อยสลายอินทรียวัตถุที่ตกค้างบนหน้าดินเลนได้อย่างรวดเร็วรอเวลาที่น้ำ ขึ้นครั้งใหม่จะพัดพาออกไป
กล่าวได้ว่า..… แพรก คือ เส้นทางธรรมชาติ ที่คอยเติมธาตุอาหารให้แก่พืชและสัตว์ในป่าชายเลน ขณะเดียวกันก็นำผลผลิตจากป่าชายเลนออกสู่ทะเล
อาทิ ปูดำ ที่อ้วนพีเต็มที่ออกสู่ปากแม่น้ำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น



ระบบรากไม้ป่าชายเลน

ต้นไม้ในป่าชายเลนล้วนสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพน้ำท่วมขังเนื่องจากมีระบบราก ที่มี
(๑) พัฒนาการ ด้านรูปร่างของรากและโคนลำต้นให้แผ่ขยายออกเพื่อค้ำจุนลำต้นให้ตั้งมั่นอยู่ได้บนดินเลนหลวม ๆ และต้านกระแสน้ำขึ้นลงที่รุนแรง ตลอดจนยึดเหนี่ยวดินเลนให้สะสมเพิ่มพูนตามพื้นป่า พัฒนาการนี้ทำให้มี
(ก) พูพอน ด้านข้างโคนต้นที่แผ่ออกเป็นแผ่นแบน ๆ คล้ายกระดานค้ำยันลำต้นให้ตั้งตรงแข็งแรงมั่นคง
(ข) รากค้ำยัน แผ่ออกรอบ ๆ ลำต้นมีหน้าที่ (๑) ทำให้ลำต้นตั้งมั่นคงอยู่ได้บนดินเลน (๒) ลดความรุนแรงของกระแสน้ำทะเล (๓) ยึดเหนียวดินเลนที่พัดพามากับกระแสน้ำเนื่องจากมีเรือนรากที่แผ่กว้างโดยรอบ (๔) โหย่งตัวทำให้น้ำทะเลและธาตุอาหารที่น้ำพามาสามารถ แลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง และ (๕) กำบังภัยให้แก่สัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิด
(ค) รากแก้ว สั้นมากเนื่องจากไม่สามารถหยั่งลึกลงในดินเลนที่มีสภาพน้ำทะเลท่วมขังได้
(ง) รากอากาศ ส่วนปลายของรากค้ำยันที่ยังไม่อาจหยั่งถึงพื้นเลนได้ทำหน้าที่ดูดซับไอน้ำในอากาศ
(๒) วิวัฒนาการ เพิ่มหน้าที่พิเศษของราก ( นอกเหนือจากการดูดซับแร่ธาตุและลำเลียงน้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยงลำต้นและสังเคราะห์แสงที่ใบแล้ว ) ให้สามารถแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างโลกภายนอก กับเนื้อเหยื่อภายในรากและลำต้น วิวัฒนาการนี้ทำให้มี
(จ) รากหายใจ ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศตลอดจนสร้างสมดุลย์ระหว่างความดันของอากาศและน้ำในเนื้อเยื่อภายในลำต้นกับความดันของอากาศและน้ำภายนอกลำต้น
(ฉ) ช่องระบายอากาศ ตามผิวรากและตามเปลือกรอบลำต้นและกิ่ง



รากหัวเข่า

รากหัวเข่า คือ รากหายใจ ชนิดหนึ่งซึ่งปกติแตกออกจากรากแขนง เนื่องจากต้องงอกชูขึ้นพ้นระดับน้ำแล้วหักพับลงทำให้ดูคล้ายหัวเข่า ทำหน้าที่ แลกเปลี่ยนอากาศตลอดจนรักษาสมดุลย์ของความดันก๊าซและน้ำเลี้ยงในลำต้นให้เท่ากับหรือใกล้เคียงความดันของอากาศและน้ำทะเลภายนอกลำต้น
ต้นไม้ในป่าชายเลนที่มีรากหัวเข่าได้แก่ ประสักหรือพังกาหัวสุม โปรง และฝาด

รากค้ำยัน

รากค้ำยัน คือ รากแขนง ของไม้ป่าชายเลนที่งอกออกทางด้านข้างรอบ ๆ โคนต้น (อาจงอกสูงถึงกึ่งกลางลำต้นในกรณีที่น้ำทะเลขึ้นลงแตกต่างกันมากหรือเมื่อกระแสน้ำทะเลพัดรุนแรง) เพื่อค้ำยันลำต้นให้ตั้งได้มั่นคงแข็งแรง
ประโยชน์ของรากค้ำยันที่มีต่อป่าชายเลน (๑) ค้ำยันลำต้นให้ตั้งตรงได้อย่างมั่นคงแข็งแรงบนดินเลนหลวม ๆ (๒) ลดความรุนแรงของกระแสน้ำทะเล (๓) โหย่งตัวทำให้น้ำทะเลสามารถพัดพาธาตุอาหารเข้ามาแลกเปลี่ยนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง (๔) แผ่กว้างยึดเหนี่ยวดินเลนที่พัดพากับกระแสน้ำให้ตก ตะกอนอยู่ที่พื้นป่า และ (๕) เป็นแหล่งกำบังภัยให้แก่สัตว์น้ำทะเลวัยอ่อนนานาชนิด ต้นไม้ในป่าชายเลนที่มีรากค้ำยันได้แก่ โกงกางใบเล็ก ซึ่งรากตั้งฉากกับลำต้น และโกงกางใบใหญ่ ซึ่งรากมีรูปร่างโค้งคล้ายสุ่มไก่

รากเข็มหมุด

รากเข็มหมุด คือ รากหายใจ ชนิดหนึ่งของต้นไม้ในป่าชายเลน ทำหน้าที่แลกเปลี่ยยนอากาศตลอดจนรักษาสมดุลย์ของความดันก๊าซและน้ำเลี้ยงลำต้นให้เท่ากับหรือใกล้เคียงความดันของอากาศและน้ำทะเลภายนอกลำต้น ต้นไม้ในป่าชายเลนมักพัฒนารากเข็มหมุดเมื่อต้องขึ้นอยู่ในบริเวณห้วงน้ำทะเลลึกพื้นที่มีน้ำท่วมถึงเกือบตลอดเวลา
ต้นไม้ในป่าชายเลนที่มีรากเข็มหมุด ได้แก่ แสม ลำพู และ ลำแพน

รากหายใจ

รากหายใจ เป็นผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิวัฒนาการของระบบราก ของไม้ในป่าชายเลนและป่าพรุทำให้รากมีหน้าที่พิเศษสามารถแลกเปลี่ยนอากาศกับโลกภายนอกได้ในสภาพที่พื้นป่ามีน้ำท่วมขังตลอดหรือเกือบตลอดเวลา อีกทั้งสามารถรักษาสมดุลย์ระหว่างความกดดันอากาศ และน้ำเลี้ยงของเนื้อเยื่อไม้ภายในลำต้นกับความกดดันของอากาศ และน้ำภายนอกลำต้นได้ ทำให้ต้นไม้ในป่าชายเลนหรือป่าพรุสามารถดำรงชีวิตและเจริญงอกงามได้ดีในสภาพน้ำท่วมขังเสมอ ๆ ในพื้นที่น้ำท่วมขังมีปริมาณก๊าซออกซิเจนน้อยกว่าปริมาณก๊าซออกซิเจนในทุ่งโล่งบนบกที่มีอากาศพัดผ่านได้ดีถึง ๑๓ เท่า พืชในป่าชายเลนจึงจำเป็นต้องมีรากหายใจเพื่อเพิ่มอากาศให้เพียงพอแก่กระบวนการหายใจ พัฒนาการเช่นนี้ได้แก่ การเพิ่มส่วนของรากให้โผล่พ้นระดับน้ำทะเลสูงสุดเพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนอากาศกับโลกภายนอกได้แม้ในเวลาที่น้ำท่วมรากเกือบทั้งหมด ส่วนของรากพิเศษเช่นนี้แตกออกจากรากแขนง เรียกว่า รากหายใจ ซึ่งต้นไม้ในป่าชายเลนพัฒนารากพิเศษเช่นนี้ออกไปได้อย่างน้อย ๓ แบบด้วยกัน ได้แก่
๑. รากหายใจแบบเข็มหมุด
๒. รากหายใจแบบแผ่นกระดาน
๓. รากหายใจแบบหัวเข่า

เพรียงหิน
เพรียงหิน เป็นสัตว์จำพวกขาเป็นปล้อง มีสารประกอบ Chitim เป็นเปลือกแข็งหุ้มด้านนอกลำต้นเช่นเดียวกับกุ้ง ลักษณะภายนอกคล้ายฝาชีเตี้ย ๆ เปลือกแข็งหุ้มตัวเป็นแผ่นหินปูน ๒ ชั้น ชั้นนอกมีขนาดใหญ่ ๖ แผ่นเชื่อมติดกันแน่นจนขยับเขยื่อนไม่ได้ ชั้นในมีขนาดเล็กกว่าชั้นนอกแต่สามารถ ขยับตัวขึ้นลงได้เนื่องจากมีกล้ามเนื้อยึดติดกับส่วนหาง เพรียง ชอบเกาะอาศัยตามเปลือกหอย ก้อนหิน เสาโป๊ะ หรือ ตามรากโกงกางที่ตายแล้วโดยเฉพาะตามวัตถุบริเวณที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำลงต่ำสุด


ป่าชายเลนคืนกำไรให้ธรรมชาติอย่างไร ?

เศษไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงสู่พื้นป่ามีปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน เนื่องจากจำนวนต้นไม้และความถี่ห่างในการผลัดใบหรือกิ่งของต้นไม้ จากการวิจัยพบว่า โกงกางใบเล็ก ทิ้งใบและกิ่งลงสู่พื้นป่าชายเลนถึงประมาณ ๑.๐๗ ตันต่อไร่ต่อปี เมื่อกิ่งไม้ใบไม้ร่วงหล่นจากต้นแล้ว ก็เน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลาด้วยปัจจัยต่าง ๆ ในธรรมชาติที่เร่งการเน่าเปิ่อย อาทิ สัตว์และจุลชีวิตนานาชนิดที่กินซากพืชเป็นอาหาร ความชื้นในดินและอากาศตลอดจนก๊าซออกซิเจนที่เร่งการเจริญเติบโตและช่วยการหายใจของสัตว์และจุลชีวิตเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นเคมีสมบัติของน้ำทะเลก็เป็นปัจจัยเร่งการเน่าเปื่อยผุพังของกิ่งไม้ใบไม้ให้เร็วยิ่งขึ้นกว่าในน้ำจืดอีกด้วย
ในป่าชายเลน.....(๑) จุลชีวิตจำพวกรา และแบคทีเรีย เป็นพวกแรกที่ทำให้กิ่งไม้ใบไม้เริ่มผุเปื่อย (๒) จากนั้นปูขนาดเล็กและใหญ่และสัตว์น้ำนานาชนิดเข้ามากัดกินใบไม้กิ่งไม้นั้นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (๓) ต่อมากระแสน้ำขึ้นลงพัดพากิ่งไม้ใบไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้นให้แหลกป่นเป็นชิ้นเล็กยิ่งขึ้นไปอีก (๔) แล้วจุลลินทรีย์เล็ก ๆ ในดินก็ทำหน้าที่ย่อยสลาย ต่อไปจนกิ่งไม้ใบไม้ที่แหลกป่นนั้นกลายกลับไปเป็นธาตุอาหาร ของสัตว์น้ำในทะเลนานาชนิด ธาตุอาหารที่ได้จากการเน่าเปื่อยผุพังของกิ่งไม้ใบไม้ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และ โซเดียม เป็นต้น จากการวิจัยพบว่าธาตุอาหารที่ได้จากป่าชายเลนในแต่ละปีมีมากถึง ๔๙.๐ กิโลกรัมต่อไร่ ( เฉพาะที่ได้จากเศษไม้ใบไม้ ) ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำนานาชนิดที่รอคอยอยู่ในทะเล ……เราได้เนื้อปลา เนื้อปู เนื้อกุ้ง เนื้อหอย จำนวนกี่ล้านตัวกี่ล้านกิโลกรัมจากสัตว์น้ำในทะเลเหล่านี้ในแต่ละปี…...ส่วนหนึ่งมาจากการคืนกำไรของป่าชายเลนสู่ธรรมชาตินั่นเอง

ชะคราม ( พันธุ์ไม้หลากสี )

สีเหลืองออกแดง.............ยอดแก่แล้ว
สีเหลือง...........................ยอดแก่
สีเขียว..............................ยอดอ่อน
นิยมนำยอดอ่อน (เฉพาะยอดที่มีสีเขียว) มาปรุงเป็นอาหาร อาทิ รับประทานสดเป็นผักสดชนิดหนึ่งเป็นเครื่องเคียง หรือเป็นผักจิ้มลวกกะทิ หรือเป็นไข่เจียวยัดไส้ชะคราม เป็นต้น

ปูดำ

ปูดำ เป็นปูทะเลชนิดหนึ่งมีกระดองสีเขียวหม่น สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลแก่ (ชาวบ้านจึงเรียกว่า ปูดำ) ขอบกระดองระหว่างนัยน์ตา มีหนามแหลม ๔ อัน ส่วนขอบกระดองด้านข้างนัยน์ตาซ้ายและขวามีหนามข้างละ ๘ ถึง ๙ อัน นักวิทยาศาสตร์จึงให้ชื่อสามัญแก่ปู ชนิดนี้ว่า “ ปูเลนกระดองหยักหนาม ” เป็นปูทะเลชนิดที่ชุกชุมมากที่สุดในประเทศไทยปูดำ ตัวผู้มีก้ามใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมีย ก้ามมีสีแดง กระดองหนา บางตัวมีตะไคร่หรือเพรียงจับที่กระดอง มักขุดรูอยู่ในบริเวณน้ำตื้นในป่าชายเลนที่เป็นโคลน เช่น ตามบริเวณที่มีแสม โกงกางหรือจากขึ้นอยู่ หมกตัวอยู่ในเลนได้เป็นเวลานาน ๆ แม้น้ำทะเลขึ้นถึงเป็นบางเวลา ตัวเมียที่มีไข่อยู่ที่จับปิ้งเรียกว่า “ กระแซง หรือแม่กระแซง ” ปูดำกินซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้วตามพื้นป่าชายเลนเป็นอาหาร มีขนาดใหญ่ประมาณ ๑๕ ถึง ๒๕ เซนติเมตร เนื้อแน่น มีรสอร่อยมาก ปูขนาดใหญ่มีราคาสูงถึงประมาณกิโลกรัมละ ๓๕๐ บาท ป่าชายเลนเป็นทั้งบ้านและโรงอาหารของปูดำ หากขาดป่าชายเลนย่อมหมายถึง การไม่มีปูดำด้วย...



รูปูดำ รูงูพิษ สังเกตอย่างไรจึงจะได้กินเนื้อปูและไม่ถูกงูกัด ?

รูปูจำเป็นแก่ปูเพียงใด ?
จำเป็นมากเพราะปูอาศัยรูที่มันสร้างขึ้นเพื่อ...
๑. หลบภัยจากสัตว์อื่นรวมทั้งมนุษย์ที่คอยล่าปูเป็นอาหาร
๒. หลบความเค็มของน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามปริมาณน้ำเค็มจากทะเลที่ขึ้นมาผสมกับน้ำจืดในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ กันการที่ปูหลบอยู่ในรู ทำให้ปูสามารถรักษาระดับเกลือแร่ในเลือดไม่ให้ขึ้นลงแตกต่างกันมากจนเป็นอันตรายแก่ตัวปูได้
๓. รักษาความชื้นและอุณหภูมิในตัวปู โดยเฉพาะในช่วงน้ำตายซึ่งน้ำทะเลลงเป็นเวลานาน ปูจะแช่น้ำอยู่ในรูเกือบตลอดเวลา

รูปูต่างจากรูงูอย่างไร ?
ต้องสังเกตให้ดีรูปูมีขุยดิน ซึ่งปูใช้ปลายขา ซึ่งมีลักษณะคล้ายพลั่วคุ้ยทรายที่ปิดรูมากองไว้ที่ปากรูเห็นเป็นขุย แตกต่างจากดินโดยรอบปากรูส่วนรูงูไม่มีขุย และปากรูงูมักเป็นมันเลื่อม เนื่องจากการเลื้อยเข้าออกของงูนั่นเอง

ทำไมปูจึงเดินเป๋ไป เป๋มา ?

เพราะ ขาเดิน (ขาคู่ที่ ๒ ๓ และ ๔) แต่ละข้างแบ่งออกเป็นปล้อง ๆ ข้อต่อของปล้องขาปล้องที่ ๒ และ ๓ ยึดติดกันจึงไม่สามารถ พับงอ หรือขยับเขยื้อนได้ ( คล้ายขาเข้าเฝือก ) อีกทั้งขาเดินคู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ และคู่ที่ ๔ ก็ยาวไม่เท่ากันอีกด้วย ทำให้ปูไม่สามารถบังคับให้ขาเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ต้องการได้ ปูจึงต้องเดินเป๋ส่ายไปส่ายมาไม่ตรงทาง

เล็กเพียงใบ...แต่ต้นใหญ่เป็นแม่ทัพ
โกงกางใบเล็ก
โกงกางใบเล็ก เป็นพันธุ์ไม้สำคัญในป่าชายเลน สำคัญมากจนคนทั่วไปตั้งชื่อป่าชายเลนอีกชื่อหนึ่งว่า “ป่าโกงกาง “ เนื่องจากมีเรือนรากที่เด่น สะดุดตา ยาวเก้งก้างระเกะระกะรอบโคนตัน นอกจากนั้นเรือนยอดยังมีปลายใบแหลมมองเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล โกงกางใบเล็กขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ใน ป่าเลนต่ำ ซึ่งเป็นเนื้อที่ใจกลางป่าเลนจึงเปรียบเป็นแม่ทัพใหญ่ของป่าชายเลน ( โดยมีโกงกางใบใหญ่ เป็นรองแม่ทัพ )ในอดีต.... เนื้อไม้โกงกางใช้เป็นเชื้อเพลิงในรูปถ่านไม้ให้ความร้อนสูงมากถึง ๗,๓๐๐ แคลอรี่ต่อกรัม เป็นถ่านไม้คุณภาพดีมีปริมาณขี้เถ้าน้อย นอกจากนี้ยังใช้เปลือกซึ่งมีสีแสดอมแดงถึงสีแดงเลือดหมูเพราะ มีฝาด ย้อมผ้า และเครื่องมือประมง เช่น อวนหรือแห ให้ทนทานสำหรับใช้งานในทะเล น้ำฝาด จากเปลือกมีสรรพคุณทางยารักษาโรค อาทิ ใช้ล้างแผล ห้ามเลือดและมีตัวยาแก้โรคบิดและท้องร่วงอีกด้วย ประเทศไทยใช้เนื้อไม้โกงกางเพื่อผลิตถ่านเฉลี่ยมากถึงปีละ ๗๐๔,๖๙๔ ลูกบาศก์เมตรคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันไม่มีเนื้อไม้โกงกางมากอย่างเช่นที่ผ่านมาอีกแล้วเพราะพื้นที่ป่าชายเลนถูกเปลี่ยนไปเป็นนากุ้งเกือบหมด

ผักเบี้ยทะเล
เป็นพืชล้มลุกหลายฤ พบตามพื้นที่ป่าตะกาด บริเวณที่เป็นโคลนหรือทรายใกล้ทะเลเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง ๐ ถึง ๑ เมตร โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแพรก น้ำทะเลไหลเข้าออกได้
ผักเบี้ยทะเล มีรากแก้วแข็งแรงมาก ลำต้นงอกออกมาจากข้อประกอบด้วยกิ่งก้านรวมเป็นกลุ่มอัดแน่น และอวบน้ำเป็นลำต้นแบบเลื้อยคลาน เหนือดิน ไม่ชูตั้งตรงขึ้นสู่อากาศ ลำต้นมีสีเขียวปนแดงหรือสีม่วงปนแดง ใบขนาดเล็กเป็นรูปหอก อวบน้ำ ผิวใบเป็นมัน ปลายใบโค้งมน ใบมัก รวมกันเป็นกลุ่มทำให้ดูเหมือนเรียงเป็นคู่ ๆ ฐานใบสีแดงมีปลายใบสีเขียว ดอกผักเบี้ยทะเลเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกลุ่ม ๆ ที่ปลายยอด และตามซอกใบ ดอกตูมมีสีเขียว เกสรเพศผู้มีสีชมพูปนม่วง เกสรเพศเมียมีสีขาว ให้ผลเป็กฝัก เมื่อแก่จะแตกตรงกลางฝักตามขวางเห็นเมล็ดสีดำอยู่ภายในผักเบี้ยทะเล มีประโยชน์ใช้เป็นผักประกอบ ก่อนประกอบเป็นอาหารควรล้าง หรือลวกน้ำร้อนเพื่อล้างความเค็มของเกลือออกเสียก่อน ปกติ นิยมใช้แทนผักบุ้งในแกงชนิดต่าง ๆ เช่น แกงส้ม แกงเทโพ เป็นต้น


ทำไมเรือนยอดต้นตะบูนจึงมีรังมดแดงมาก ?
ตะบูนมักขึ้นตามละแวกป่าเลนสูง ซึ่งพื้นป่ามีน้ำทะเลท่วมขังอย่างตื้น ๆริเวณเช่นนี้แม่ปลาที่วางไข่แล้วหรือปลาที่หมดแรงไม่อาจกระเสือกกระสนว่ายกลับไปลงทะเลเมื่อน้ำลงได้ จึงมักตกค้างแห้งตายทิ้งซากอยู่ในดงตะบูน มดงานจำนวนมากต่างแข่งขันกันไต่ลงมาจากต้นตะบูนเพื่อกินซากปลาตายดังกล่าว บริเวณดงต้นตะบูนของป่าชายเลนสูงจึงมักพบรังมดแดงมากด้วยประการฉะนี้


การเปลี่ยนสีของใบไม้ในป่าชายเลน

ใบไม้มีสีเขียว....เพราะมีรงควัตถุ Chloroplast จำนวนมากซึ่งพืชใช้ในการสังเคราะห์แสง
ในใบไม้ที่แก่จัด.... มีรงควัตถุหลายชนิดปะปนกันอยู่ในใบ อาทิ
กลุ่มรงควัตถุ Chloroplast และ Carotenoids ให้สีเขียว
กลุ่มรงควัตถุ Carotenoids ให้สีเหลือง
กลุ่มรงควัตถุ Xanthophylls ให้สีเหลืองซีด
กลุ่มรงควัตถุ Anthocyanins ให้สีแดงถ้าน้ำเลี้ยงในเซลล์ มีสภาพเป็นกรด
กลุ่มรงควัตถุ Anthocyanins ให้สีน้ำเงินถ้าน้ำเลี้ยงในเซลล์ มีสภาพเป็นด่างอ่อน
กลุ่มรงควัตถุ Anthocyanins ให้สีแดงอมน้ำเงินหรือสีม่วงถ้าน้ำเลี้ยงในเซลล์ มีสภาพเป็นกลาง
กลุ่มรงควัตถุ Betacyanins ให้สีแดงแก่พืชแทบทุกสกุล
ปกติในใบไม้.... กลุ่มรงควัตถุ Chloroplast มีปริมาณมากมายกว่ากลุ่มรงควัตถุอื่น ๆ จึงทำให้เห็นใบไม้สีเขียวสดบดบังสีเหลืองของ Carotenes และสีเหลืองซีดของ Xanthophylls ไว้เมื่อใบไม้แก่จัด.... Chloroplast ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ทำให้ความสามารถในการสังเคราะห์แสงลดลงด้วย ในขณะเดียวกันกลุ่มรงควัตถุ Anthocyanins และ Betacyanins ซึ่งละลายน้ำได้เข้าไปสะสมในช่องว่างภายในเซลล์ มากขึ้นทำให้ใบไม้ซึ่งเคยเห็นเป็นสีเขียวเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง สีแสด สีแดง หรือ สีม่วงแดง เป็นต้น
สีของใบไม้ที่แก่จัด.... มักค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้

สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีน้ำตาล

การเปลี่ยนสีของใบไม้อาจเริ่มจากใบเดียวแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนสีไปพร้อมกันทั้งต้น หรือค่อย ๆ เปลี่ยนที่ละใบแล้วทยอยร่วงไปก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรงควัตถุสีต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากที่สุดในใบในขณะที่ใบไม้แก่จัดนั่นเอง ท่านจึงเห็นใบไม้ที่แก่จัดและที่ร่วงไปจากต้นมีสีต่าง ๆ กัน

น้ำขึ้นน้ำลง

ตามจันทรคติ การขึ้นลงของน้ำทะเลในโลกเรานี้ได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่จากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ ซึ่งโคจรรอบโลกใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง 50 นาที ทำให้น้ำทะเลขึ้นและลงช้ากว่าวันก่อน ๆ เป็นเวลา 50 นาทีเรื่อยไปทุกวัน
ช่วงน้ำทะเลขึ้น หมู่ปลาเล็กปลาน้อยไหลเข้ามากับน้ำ เป็นเวลาของสัตว์ที่ว่ายน้ำหากิน อาทิ ปลาและกุ้งออกหาอาหารกิน ส่วนปูจะกบดานนิ่งอยู่ในรู
ช่วงน้ำทะเลลง พื้นเลนพ้นน้ำท่วม หมู่สัตว์หน้าดิน ออกหากิน อาทิ ปูก้ามดาบ ปูเปี้ยว ออกมาปั้นเลนหรือทรายที่มีอินทรียวัตถุยุ่ยสลาย ซึ่งปะปนมากับน้ำกินเป็นอาหารแล้วสำรอกเลนหรือทรายคืนสู่หน้าดินดังเดิม
กรณีที่น้ำทะเลขึ้นลงในแนวดิ่งส่งผลดีแก่ธรรมชาติกล่าวคือ
(๑) แบ่งเขตพันธุ์ไม้และสัตว์น้ำในป่าชายเลน (๒) เปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเล (๓) เกิดการผสมผสานมวลน้ำจืดกับน้ำเค็มมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนธาตุอาหาร

น้ำเกิด-น้ำตาย

เมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่ง “ กึ่งปักษ์ ” คือ วันขึ้น ๘ ค่ำและวันแรม ๘ ค่ำ กล่าวคือดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ใน แนวตั้งฉากซึ่งกันและกัน มีผลทำให้แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่ส่งมายังมวลน้ำทะเลของโลกเกิดหักล้างกัน ทำให้พิสัยการเกิดน้ำขึ้น น้ำลงแตกต่างกันน้อย กล่าวคือ น้ำขึ้นประเดี๋ยวเดียวและน้ำลงเป็นเวลานาน เรียกว่า “ น้ำตาย ” ทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์

ปูแสม

ปูแสม หรือปูดองกินกับส้มตำ มีกระดองเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก้ามมีสีแดงปนม่วง เบ้าตาตอนกลางกระดองตั้งอยู่ ในแนวตรงข้ามกับปากมีลักษณะโค้งนูนปลายแหลมเห็นได้ชัดเจน ปูตัวผู้มีปล้องท้อง ปล้องรองสุดท้ายยาวกว่าปล้องสุดท้ายเล็กน้อยและกว้างกว่าปล้องปูตัวเมียประมาณ 2 เท่า ปูแสมมีนิสัยไต่ไปมาไม่อยู่นิ่งจึงได้รับสมญานามว่า “ ปูเลนจอมยุ่ง ” โดยทั่วไป ปูแสมขุดรูอยู่ในป่าชายเลนที่มีต้นแสมทั่วไป บางครั้งอาจอาศัยอยู่ในรูร้างของปูดำ กินใบไม้และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในป่าชายเลนเป็นอาหารชาวประมงมักออกจับปูชนิดนี้ในเวลากลางคืนนำมาดองเกลือไว้นิยมทำเป็นส่วนประกอบของส้มตำปู ข้อควรสังเกต... เมื่อรับประทานอาหารที่มีปูแสมเป็นส่วนประกอบ โปรดระลึกอยู่เสมอว่า ปูแสมตัวนั้นอาจออกไปหากินบริเวณต้นตาตุ่ม ซึ่งมียางพิษที่เปลือกผสมอยู่ หากท่านรับประทานปูแสมตัวนั้นเข้าไปก็อาจเกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเพราะพิษยางจากเปลือกตาตุ่มนั่นเอง

ปูก้ามดาบ

ปูก้ามดาบ มี “ก้าม” (ซึ่งเป็นขาคู่แรก) ก้ามขวาใหญ่กว่าก้ามซ้ายมาก ก้ามซ้ายใช้ปั้นเม็ดทรายที่ผสมอินทรียสารเน่าเปื่อยกิน ส่วนก้ามขวายกชูขึ้นลง คล้ายอาการ “ดีดหรือสีไวโอลิน” ชาวตะวันตกจึงนิยมเรียกปูชนิดนี้ว่า “ปูนักสีไวโอลิน” ส่วนคนไทยเรามองเห็นการยกก้ามขวาชูขึ้นลงของปูชนิดนี้ มีความหมายคล้ายพฤติกรรมของผู้แทนราษฎรที่ยกมือในสภา จึงเรียกปูชนิดนี้ว่า “ปูผู้แทน” อาการยกก้ามขวาชูขึ้นลงของปูตัวผู้เป็นพฤติกรรม ทางเพศใช้ดึงดูดความสนใจจากปูตัวเมียตลอดจนใช้โบกแสดงอาณาเขตด้วย ปูก้ามดาบตัวเมียไม่มีก้ามขวาใหญ่อย่างปูตัวผู้ จึงใช้ก้ามทั้งซ้ายและขวาปั้น อาหารกินได้เร็วกว่าปูตัวผู้ถึงสองเท่า
ปูก้ามดาบ อาศัยอยู่ตามโคนต้นโกงกาง ต้นแสมหรือตามหาดโคลนชายทะเล กินสาหร่ายขนาดเล็กและซากพืชหรือสัตว์ที่เน่าเปื่อยปะปนมากับเม็ดทราย ในป่าชายเลน ขุดรูเล็ก ๆ ลึกลงไปในเลนเป็นการเติมอากาศ ให้แก่ชั้นดินเลน การลากเศษอาหารลงไปในรูทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนธาตุอาหารจากผิวดิน ลงสู่ชั้นดินเลนลึกเกิดประโยชน์แก่สัตว์หน้าดินอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ปูก้ามดาบจึงควรได้รับสมญานามว่า “นักพัฒนาดินเลนและนักกำจัดขยะตัวยง”

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ
•ชาวประมงส่วนใหญ่เริ่มต้นกิจวัตรประจำวันด้วยการเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากป่าชายเลน ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา หรือสัตว์น้ำอื่น ๆ พวกเขาสำนึกในคุณค่าของป่าชายเลนว่าเป็นโรงผลิตอาหารทะเลหรืออู้ข้าวอู่น้ำ ทำให้พวกเขามีอาหารดี ๆ รับประทาน และแบ่งขายได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องลงทุน

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนโรงไม้

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนโรงไม้
ระบบนิเวศของป่าชายเลนถูกกำหนดด้วยการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล ชาวบ้านจะช่วยกันปลูกป่าเพื่อนำต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและหารายได้เลี้ยงครอบครัว เช่น เผาไม้โกงกางเพื่อทำเป็นฟืนและถ่านที่มีคุณภาพดี ใช้ไม้สร้างที่อยู่อาศัย ทำเครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องมือทำประมง เป็นต้น

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนกำแพงธรรมชาติ

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนกำแพงธรรมชาติ
รากของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่โผล่ขึ้นมาแผ่กว้างเหนือดิน และหยั่งลึกลงใต้ดินช่วยยึดเกาะดินไว้ไม่ให้พังทลาย ป่าชายเลนที่ขึ้นเป็นแนวเขตบริเวณชายฝั่งทะเลจึงทำหน้าที่เหมือนเขื่อนหรือกำแพงธรรมชาติที่คอยปะทะพายุและคลื่นลมทะเล ช่วยปกป้องบ้านเรือนและทรัพย์สินของมนุษย์ไม่ให้เสียหาย

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนบ้านของสัตว์นา นาชนิด

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนบ้าน
ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด สัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ ต้องอาศัยระบบรากที่ซับซ้อนของพืชป่าชายเลนสำหรับวางไข่ อนุบาลตัวอ่อนและหลบภัยลิงแสมที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน ก็ได้จับปู ปลา เป็นอาหาร ดังนั้น การทำลายป่าชายเลนจึงเท่ากับเป็นการทำลายบ้านที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนโรงครัว

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนโรงครัว
•ยามน้ำขึ้น ป่าชายเลนจะมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยฝูงปูปลาหลากหลายชนิดต่างพากันออกมาหากินบนพื้นผิวป่าชายเลน ใบในป่าชายเลนที่ร่วงหล่น จะสลายตัวกลายเป็นธาตุอาหารอันอุดมสำหรับการดำรงอยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด เพื่อเติบโตกลายเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์ต่อไป

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนโรงบำบัดน้ำเสีย

ป่าชายเลน เปรียบเสมือนโรงบำบัดน้ำเสีย
รากที่สลับซับซ้อนและหนาแน่นคล้าย “ตะแกรง” ของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน มีศักยภาพสูงในการดูดซับสารพิษ และเก็บกักตะกอนกลั่นกรองขยะ สิ่งปฏิกูลของเสียต่าง ๆ ที่มาจากพื้นบก อันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เป็นการลดมลภาวะทางน้ำ ส่งผลให้น้ำใสสะอาด